วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เอ็นไหล่ขาดซ้ำ หลังผ่าตัด

การป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นไหล่ขาดซ้ำ หลังผ่าตัดส่องกล้องกับหมอไตรไปแล้ว เป็นคำถามที่หมอถูกถามอยู่ๆบ่อย มีเกร็ดความรู้และข้อแนะนำดังนี้ครับ
1.โอกาสในการขาดซ้ำมีได้สูงถึง 20-40% (เป็นข้อมูลที่มาจากงานวิจัยต่างประเทศ)
2.ในประสบการณ์ของหมอ พบคนไข้ 2 รายที่มีการฉีกขาดซ้ำ คนไข้จะมีอาการปวดมากผิดปกติหรือยกแขนไม่ขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำกายภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้วก็ตาม
3.ถ้ารอยขาดรอบแรกมีขนาดใหญ่หรือปล่อยทิ้งไว้นานก่อนที่จะมาผ่าตัดเย็บซ่อม ก็จะยิ่งมีโอกาสฉีกขาดซ้ำได้สูง
ข้อแนะนำ
1. ถ้าทราบว่ามีเอ็นไหล่ขาด ควรรีบผ่าตัด อย่ารอให้รอยขาดใหญ่ขึ้น
2. หลังผ่าตัดควรทำกายภาพตามที่แพทย์สั่ง อย่างเคร่งครัด
3. หลีกเลี่ยงการแกว่งแขนแรง การยกแขนสูง หรือยกของหนักเกินกำลัง
นพ.ไตร พรหมแสง
แผนกกระดูกและข้อ
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

ข้อไหล่เสื่อม

มีคำถามทามาง message จากแฟนเพจ เกี่ยวกับโรคข้อไหล่เสื่อม ขออนุญาตตอบตรงนี้ จะได้เป็นข้อมูลให้กับคนอื่นด้วยนะครับ
" รบกวนสอบถามหน่อยคะ คุณพ่ออายุประมาณ63 ปวดข้อไหล่ขวามากๆไปหาหมอx-ray แล้ววินิจฉายว่า อาจเป็นโรคข้อหัวไหล่เสื่อม ต้องทำMRI หลังจากนั้นอาจต้องผ่านตัดข้อหัวไหล่(ฉีดยาประมาน4ครั้งตอนฉีดก็อาการบรรเทาแต่หยุดฉีดก็ปวดคะตอนนี้คุณพ่อบอกอยู่เฉยๆก็ปวด) แบบนี้แล้ว
-จำเป็นต้องผ่าเปลี่ยนเป็นข้อเทียมไหมคะ?
-ถ้าต้องผ่าค่าใช้จ่ายประมานเท่าไหร่คะ?ระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน ที่ไหนถูกกว่าคะ?
-ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือเปล่าคะ?
-ถ้าไม่ผ่าพอจะแนะนำวิธีรักษาทางอื่นๆได้ไหมคะ?
รบกวนช่วยแนะนำให้ด้วยคะ ขอบคุณมากๆคะ"
- ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คืออาการปวดและยกแขนไม่ขึ้น ถ้าปวดมากก็แนะนำให้ผ่าตัดครับ
- ค่าอุปกรณ์ข้อไหล่เทียม มีสองประเภท
1.ข้อเทียมธรรมดา 60,000 บาท
2.ข้อเทียมกลับด้าน 120,000 บาท
จะเลือกใช้แบบไหน ขึ้นอยู่กับเส้นเอ็นรอบข้อไหล่ ถ้าเส้นเอ็นยังดีจะใช้แบบธรรมดา ถ้าเส้นเอ็นขาดจะใช้ข้อเทียมแบบกลับด้าน
- รัฐบาลถูกกว่าแน่นอนครับ
ถ้ามีสิทธิการรักษา ข้อเทียมแบบธรรมดาจะไม่ต้องเสียเงินเลย
แต่ข้อเทียมแบบกลับด้าน คนไข้จะต้องจ่ายค่าส่วนเกิน 60,000 บาท
- ถ้าไม่ผ่าตัด ก็ทานยาและทำกายภาพเพื่อบบรรเทาอาการปวดได้ครับ
นพ.ไตร พรหมแสง
www.shoulderknee.org

กระดูกไหล่หัก มีหลายแบบ

กระดูกข้อไหล่หัก เกิดจากการหกล้มเอาไหล่ลงกระแทกพื้น
ส่วนใหญ่รักษาโดยการใส่เฝือกได้
ยกเว้นกรณีที่กระดูกแตกละเอียด จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด. การผ่าตัดมี 2 แบบ
1. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ใช้กับกระดูกที่แตกละเอียดจริงๆ ไม่สามารถประกอบให้คืนรูปเดิมได้แล้ว
2. ผ่าตัดจัดเรียงกระดูกและดามด้วยโลหะ ใช้กับกระดูกหักที่ยังประกอบให้คืนรูปเดิมได้
ผลการรักษาส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ป่วยสามารถยกแขนได้ ยกของหนักได้และใช้งานได้อย่างปกติในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากหลังผ่าตัด ก็คือการทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ครับ.
(ภาพซ้ายเป็นข้อไหล่เทียม-ภาพกลางเป็นภาพกระดูกหัก-ภาพขวาเป็นการดามกระดูกด้วยโลหะ)
นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อไหล่
www.shoulderknee.org

สวัสดีปีใหม่

ทางการแพทย์ ข้อไหล่จัดเป็นข้อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์
เมื่อเป็นโรคข้อไหล่แล้ว จะรักษายากที่สุด !!
ต้องตรวจกันอย่างละเอียด ทั้งเอกซเรย์และ MRI ก่อนที่จะวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
บางครั้งก็ต้องทำกายภาพ บางครั้งก็ต้องผ่าตัดส่องกล้อง
เพราะไหล่เป็นข้อที่ยึดติดง่าย เราเรียกว่า "โรคไหล่ติด"
และก็เป็นข้อที่หลุดง่ายมากที่สุดอีกด้วย เราเรียกว่า "โรคไหล่หลุด"
วัยหนุ่มสาว ยกของหนัก ก็ทำให้เป็น "โรคเส้นเอ็นไหล่อักเสบ"
ถ้าอายุมากขึ้นมาหน่อย ก็เป็น "โรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด"
เมื่อเอ็นฉีกขาดแล้วไม่ได้รักษา ปล่อยไว้ก็กลายเป็น "โรคข้อไหล่เสื่อม"
หรืออยู่ดีๆ ไม่ได้ไปทำอะไรผิดเลย ก็ดันปวดไหล่ขึ้นมา เพราะเป็น "โรคหินปูนเกาะเส้นเอ็นไหล่"
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2559 นี้ ผมนายแพทย์ไตร พรหมแสง ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ผู้ที่ติดตามเพจ "สุขภาพ ข้อไหล่" ทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งปวง โดยเฉพาะโรคข้อไหล่ครับ
สวัสดีปีใหม่ครับ ....

นพ.ไตร พรหมแสง

ข้อไหล่เสื่อม ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อไหล่เสื่อม จะมีอาการปวดไหล่เรื้อรังนานเป็นปีและจะยกแขนไม่ขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรครูมาตอยด์และโรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่
การที่เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดแต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น จะส่งผลให้ข้อไหล่เสื่อมอย่างรวดเร็ว กระดูกอ่อนบริเวณข้อสึกกร่อนไป สุดท้ายผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้นและมีอาการปวดเรื้อรัง
การรักษาข้อไหล่เสื่อมไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้
ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม
ผลการผ่าตัดข้อไหล่เทียมในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานแขนได้ในชีวิตประจำวัน
แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการเหวี่ยงแขนแรงๆเพราะอาจทำให้ข้อเทียมสึกกร่อนได้


นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อไหล่
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

เอ็นไหล่ขาด

ภาพนี้แสดงให้เห็นการฉีกขาดของเส้นเอ็นไหล่ได้ชัดเจนมากครับ...
อาการปวดไหล่เรื้อรัง อาจเกิดจากเส้นเอ็นฉีกขาดได้...ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีอุบัติเหตุมาก่อนก็ตาม !!!
เพราะเส้นเอ็นไหล่ของคนเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อย ทำให้เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเอ็นจะค่อยๆเปื่อยยุ่ยและฉีกขาดได้เอง

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

เคล็บลับ 3 ข้อ ป้องกันปวดไหล่

เคล็บลับ 3 ข้อ ป้องกันอาการปวดไหล่
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก -
โดยเฉพาะการยกสูงเหนือศีรษะ เพราะการยกแขนสูงๆจะทำให้เกิดการกดทับของเอ็นไหล่กับกระดูกสะบัก ส่งผลให้เกิดเส้นเอ็นอักเสบ ถ้ามีความจำเป็นต้องยกของวางบนที่สูง ควรใช้เก้าอี้หรือบันไดช่วยจะดีกว่า
- หลีกเลี่ยงการแกว่งแขนแรงๆ -
เพราะแรงเหวี่ยงจะทำให้เกิดการเสียดสีกันของเส้นเอ็นไหล่ และจะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นตามมา ทำให้มีอาการปวดไหล่รุนแรงได้
- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อไหล่และต้นแขนเป็นประจำ -
เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อไหล่มีความแข็งแรง ข้อไหล่มีความมั่นคง ไม่เคลื่อนหลุดง่าย แนะนำให้ยกดัมเบลขนาดเล็กสัปดาห์ละ 2 - 3 วัน

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org