วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เอ็นไหล่ขาดซ้ำ หลังผ่าตัด

การป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นไหล่ขาดซ้ำ หลังผ่าตัดส่องกล้องกับหมอไตรไปแล้ว เป็นคำถามที่หมอถูกถามอยู่ๆบ่อย มีเกร็ดความรู้และข้อแนะนำดังนี้ครับ
1.โอกาสในการขาดซ้ำมีได้สูงถึง 20-40% (เป็นข้อมูลที่มาจากงานวิจัยต่างประเทศ)
2.ในประสบการณ์ของหมอ พบคนไข้ 2 รายที่มีการฉีกขาดซ้ำ คนไข้จะมีอาการปวดมากผิดปกติหรือยกแขนไม่ขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำกายภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้วก็ตาม
3.ถ้ารอยขาดรอบแรกมีขนาดใหญ่หรือปล่อยทิ้งไว้นานก่อนที่จะมาผ่าตัดเย็บซ่อม ก็จะยิ่งมีโอกาสฉีกขาดซ้ำได้สูง
ข้อแนะนำ
1. ถ้าทราบว่ามีเอ็นไหล่ขาด ควรรีบผ่าตัด อย่ารอให้รอยขาดใหญ่ขึ้น
2. หลังผ่าตัดควรทำกายภาพตามที่แพทย์สั่ง อย่างเคร่งครัด
3. หลีกเลี่ยงการแกว่งแขนแรง การยกแขนสูง หรือยกของหนักเกินกำลัง
นพ.ไตร พรหมแสง
แผนกกระดูกและข้อ
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

ข้อไหล่เสื่อม

มีคำถามทามาง message จากแฟนเพจ เกี่ยวกับโรคข้อไหล่เสื่อม ขออนุญาตตอบตรงนี้ จะได้เป็นข้อมูลให้กับคนอื่นด้วยนะครับ
" รบกวนสอบถามหน่อยคะ คุณพ่ออายุประมาณ63 ปวดข้อไหล่ขวามากๆไปหาหมอx-ray แล้ววินิจฉายว่า อาจเป็นโรคข้อหัวไหล่เสื่อม ต้องทำMRI หลังจากนั้นอาจต้องผ่านตัดข้อหัวไหล่(ฉีดยาประมาน4ครั้งตอนฉีดก็อาการบรรเทาแต่หยุดฉีดก็ปวดคะตอนนี้คุณพ่อบอกอยู่เฉยๆก็ปวด) แบบนี้แล้ว
-จำเป็นต้องผ่าเปลี่ยนเป็นข้อเทียมไหมคะ?
-ถ้าต้องผ่าค่าใช้จ่ายประมานเท่าไหร่คะ?ระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน ที่ไหนถูกกว่าคะ?
-ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือเปล่าคะ?
-ถ้าไม่ผ่าพอจะแนะนำวิธีรักษาทางอื่นๆได้ไหมคะ?
รบกวนช่วยแนะนำให้ด้วยคะ ขอบคุณมากๆคะ"
- ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คืออาการปวดและยกแขนไม่ขึ้น ถ้าปวดมากก็แนะนำให้ผ่าตัดครับ
- ค่าอุปกรณ์ข้อไหล่เทียม มีสองประเภท
1.ข้อเทียมธรรมดา 60,000 บาท
2.ข้อเทียมกลับด้าน 120,000 บาท
จะเลือกใช้แบบไหน ขึ้นอยู่กับเส้นเอ็นรอบข้อไหล่ ถ้าเส้นเอ็นยังดีจะใช้แบบธรรมดา ถ้าเส้นเอ็นขาดจะใช้ข้อเทียมแบบกลับด้าน
- รัฐบาลถูกกว่าแน่นอนครับ
ถ้ามีสิทธิการรักษา ข้อเทียมแบบธรรมดาจะไม่ต้องเสียเงินเลย
แต่ข้อเทียมแบบกลับด้าน คนไข้จะต้องจ่ายค่าส่วนเกิน 60,000 บาท
- ถ้าไม่ผ่าตัด ก็ทานยาและทำกายภาพเพื่อบบรรเทาอาการปวดได้ครับ
นพ.ไตร พรหมแสง
www.shoulderknee.org

กระดูกไหล่หัก มีหลายแบบ

กระดูกข้อไหล่หัก เกิดจากการหกล้มเอาไหล่ลงกระแทกพื้น
ส่วนใหญ่รักษาโดยการใส่เฝือกได้
ยกเว้นกรณีที่กระดูกแตกละเอียด จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด. การผ่าตัดมี 2 แบบ
1. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ใช้กับกระดูกที่แตกละเอียดจริงๆ ไม่สามารถประกอบให้คืนรูปเดิมได้แล้ว
2. ผ่าตัดจัดเรียงกระดูกและดามด้วยโลหะ ใช้กับกระดูกหักที่ยังประกอบให้คืนรูปเดิมได้
ผลการรักษาส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ป่วยสามารถยกแขนได้ ยกของหนักได้และใช้งานได้อย่างปกติในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากหลังผ่าตัด ก็คือการทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ครับ.
(ภาพซ้ายเป็นข้อไหล่เทียม-ภาพกลางเป็นภาพกระดูกหัก-ภาพขวาเป็นการดามกระดูกด้วยโลหะ)
นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อไหล่
www.shoulderknee.org

สวัสดีปีใหม่

ทางการแพทย์ ข้อไหล่จัดเป็นข้อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์
เมื่อเป็นโรคข้อไหล่แล้ว จะรักษายากที่สุด !!
ต้องตรวจกันอย่างละเอียด ทั้งเอกซเรย์และ MRI ก่อนที่จะวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
บางครั้งก็ต้องทำกายภาพ บางครั้งก็ต้องผ่าตัดส่องกล้อง
เพราะไหล่เป็นข้อที่ยึดติดง่าย เราเรียกว่า "โรคไหล่ติด"
และก็เป็นข้อที่หลุดง่ายมากที่สุดอีกด้วย เราเรียกว่า "โรคไหล่หลุด"
วัยหนุ่มสาว ยกของหนัก ก็ทำให้เป็น "โรคเส้นเอ็นไหล่อักเสบ"
ถ้าอายุมากขึ้นมาหน่อย ก็เป็น "โรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด"
เมื่อเอ็นฉีกขาดแล้วไม่ได้รักษา ปล่อยไว้ก็กลายเป็น "โรคข้อไหล่เสื่อม"
หรืออยู่ดีๆ ไม่ได้ไปทำอะไรผิดเลย ก็ดันปวดไหล่ขึ้นมา เพราะเป็น "โรคหินปูนเกาะเส้นเอ็นไหล่"
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2559 นี้ ผมนายแพทย์ไตร พรหมแสง ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ผู้ที่ติดตามเพจ "สุขภาพ ข้อไหล่" ทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งปวง โดยเฉพาะโรคข้อไหล่ครับ
สวัสดีปีใหม่ครับ ....

นพ.ไตร พรหมแสง

ข้อไหล่เสื่อม ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อไหล่เสื่อม จะมีอาการปวดไหล่เรื้อรังนานเป็นปีและจะยกแขนไม่ขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรครูมาตอยด์และโรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่
การที่เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดแต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น จะส่งผลให้ข้อไหล่เสื่อมอย่างรวดเร็ว กระดูกอ่อนบริเวณข้อสึกกร่อนไป สุดท้ายผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้นและมีอาการปวดเรื้อรัง
การรักษาข้อไหล่เสื่อมไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้
ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม
ผลการผ่าตัดข้อไหล่เทียมในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานแขนได้ในชีวิตประจำวัน
แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการเหวี่ยงแขนแรงๆเพราะอาจทำให้ข้อเทียมสึกกร่อนได้


นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อไหล่
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

เอ็นไหล่ขาด

ภาพนี้แสดงให้เห็นการฉีกขาดของเส้นเอ็นไหล่ได้ชัดเจนมากครับ...
อาการปวดไหล่เรื้อรัง อาจเกิดจากเส้นเอ็นฉีกขาดได้...ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีอุบัติเหตุมาก่อนก็ตาม !!!
เพราะเส้นเอ็นไหล่ของคนเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อย ทำให้เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเอ็นจะค่อยๆเปื่อยยุ่ยและฉีกขาดได้เอง

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

เคล็บลับ 3 ข้อ ป้องกันปวดไหล่

เคล็บลับ 3 ข้อ ป้องกันอาการปวดไหล่
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก -
โดยเฉพาะการยกสูงเหนือศีรษะ เพราะการยกแขนสูงๆจะทำให้เกิดการกดทับของเอ็นไหล่กับกระดูกสะบัก ส่งผลให้เกิดเส้นเอ็นอักเสบ ถ้ามีความจำเป็นต้องยกของวางบนที่สูง ควรใช้เก้าอี้หรือบันไดช่วยจะดีกว่า
- หลีกเลี่ยงการแกว่งแขนแรงๆ -
เพราะแรงเหวี่ยงจะทำให้เกิดการเสียดสีกันของเส้นเอ็นไหล่ และจะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นตามมา ทำให้มีอาการปวดไหล่รุนแรงได้
- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อไหล่และต้นแขนเป็นประจำ -
เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อไหล่มีความแข็งแรง ข้อไหล่มีความมั่นคง ไม่เคลื่อนหลุดง่าย แนะนำให้ยกดัมเบลขนาดเล็กสัปดาห์ละ 2 - 3 วัน

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

ผู้สูงอายุหกล้ม เอ็นไหล่ขาด

ผู้ป่วยสูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม
หัวไหล่หลุด ต้องมารักษาโดยการดึงหัวไหล่ที่โรงพยาบาล
จะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาว คือ
ในผู้สูงอายุ มักจะเกิดเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด (rotator cuff tear) ร่วมด้วย
ซึ่งการรักษาหลังจากที่ดึงหัวไหล่ให้เข้าที่แล้ว
จะต้องตรวจ MRI เพื่อดูสภาพเส้นเอ็น ว่ายังปกติดี หรือขาดไปแล้ว
ถ้าเอ็นขาด ผู้ป่วยจะไม่สามารถยกแขนได้อีกเลย
การรักษาต้องรีบทำการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเข้าไปเย็บซ่อมเส้นเอ็น
ไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน เพราะเส้นเอ็นจะหดตัว
และไม่สามารถเย็บซ่อมได้อีกตลอดไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนไข้มาจากประเทศอังกฤษ
เกิดอุบัติเหตุขณะกระโดดน้ำทะเล หัวไหล่หลุด!!
หลังจากทำการรักษาโดยการดึงไหล่ที่ รพ.ใกล้เคียงแล้ว
คนไข้ก็ยังยกแขนไม่ได้
เวลาผ่านไป 1 เดือน ผู้ป่วยได้ถูกส่งตัวมาพบกับผมเพื่อหาสาเหตุ
ว่าทำไมถึงยกแขนไม่ขึ้น ทั้งๆที่เอกซเรย์หัวไหล่ก็ดูปกติดี
ผมจึงได้ทำการตรวจ MRI พบว่าเส้นเอ็นในหัวไหล่ขาด 4 เส้น
ต้องทำการผ่าตัดส่องกล้องทันที
หลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือน เส้นเอ็นจะสมานกัน และกลับไปใช้งานได้
ใกล้เคียงหัวไหล่ปกติ

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

กระดูกงอก เอ็นไหล่ขาด ผ่าตัดส่องกล้องหาย

ภาพกระดูกงอกที่ข้อไหล่ กดทับเส้นเอ็นไหล่ขาดเป็นรูขนาดใหญ่
ทำการรักษาโดยการส่องกล้อง เข้าไปเย็บเส้นเอ็นโดยใช้ไหมชนิดพิเศษ
ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่เวลากางแขน ยกของหนักไม่ได้ จะปวดมากตอนนอน
เคยรักษาโดยการทำกายภาพและฉีดยามาแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น
กรณีที่ตรวจพบเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดและมีกระดูกงอก การผ่าตัดส่องกล้อง
เป็นการรักษาที่ตรงจุดมากที่สุด เพราะถ้าไม่ผ่าตัดและปล่อยให้เส้นเอ็นฉีกขาดไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปรอยขาดจะใหญ่ขึ้นและไม่สามารถเย็บซ่อมได้อีก
สุดท้ายผู้ป่วยจะมีข้อไหล่เสื่อมและยกแขนไม่ขึ้น
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ หลังผ่าตัด 4-5 เดือน อาการปวดจะดีขึ้นมาก
และสามารถกลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ตามปกติ

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

                                              




เรื่องน่ารู้ โรคไหล่ติด

เรื่องน่ารู้ "โรคไหล่ติด"
- โรคไหล่ติดไม่อันตราย ไม่ทําให้พิการ
- ใช้เวลารักษานานเกือบปี
- คนไข้ต้องเข้าใจการดําเนินโรค จะได้ไม่ต้องกังวลมากเกินไป
- การทํากายภาพ สําคัญที่สุด, จะหายช้าหรือเร็วอยู่ที่ตัวคนไข้เอง
- อาการยกแขนไม่ขึ้นอาจเป็นโรคอื่น ที่ไม่ใช่โรคไหล่ติดก็ได้

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

เคล็บลับ รักษาไหล่ติด 3 ประการ

เคล็บลับ รักษาไหล่ติด 3 ประการ
1. ผู้ป่วยต้องเข้าใจและทำใจว่าโรคไหล่ติด ใช้เวลารักษานานเกือบปีกว่าจะหาย จะได้ไม่กังวลเกินไป
2. ควรทำเอกซเรย์ธรรมดาและเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยวินิจฉัย
3. อยากหายเร็ว ต้องขยันทำกายภาพเท่านั้น ทำทุกวัน วันละ 5-7 ครั้ง

นพ.ไตร พรหมแสง
www.shoulderknee.org

เคล็บลับการทำกายภาพบำบัด ไหล่ติด

การทำกายภาพบำบัด ในโรคไหล่ติด
- ต้องทำด้วยตนเองทุกวัน ทั้งขณะอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน
- ควรมาทำที่โรงพยาบาลกับนักกายภาพ อีกสัปดาห์ละ 1 วัน
- ต้องทำกายภาพ 5-7 ครั้ง ต่อวัน
- ทำแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลา 5-7 นาที
ต้องทำตามนี้ ไหล่ถึงจะหายติด
ถ้าทำน้อยกว่านี้ โอกาสหายก็จะใช้เวลานานขึ้นครับ
อ้างอิงจาก Textbook Disorder of Shoulder ล่าสุดปี 2014

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

ไหล่หลุด รู้อย่างนี้ น่าจะผ่าตั้งนานแล้ว

ภาพการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ รักษาไหล่หลุด
ทำการเย็บปลอกหุ้มข้อไหล่ โดยใช้กล้องวีดีโอขนาด 4 มิลลิเมตร
มีไหมสีฟ้าขนาดเล็กอยู่ 3 ปม
คนไข้รายนี้ ไหล่หลุดมาตลอด 20 ปี หลุดปีละ 4-5 ครั้ง
หลังผ่าตัดส่องกล้อง คนไข้บอกว่าไม่เจ็บเลย
รู้อย่างนี้ น่าจะผ่าตั้งนานแล้ว...

นพ.ไตร พรหมแสง
www.shoulderknee.org

อายุ 85 ปี ผ่าตัดส่องกล้องไหล่ สำเร็จด้วยดี

วันนี้ผมตรวจคุณยายที่ทำผ่าตัดส่องกล้องเย็บเส้นเอ็นไหล่ไป
หลังผ่าตัดแค่ 3 เดือน ท่านยกแขนได้ดี หายปวดไหล่แล้ว
จากเดิมต้องทานยาแก้ปวดทุกวัน...ตอนนี้ไม่ต้องทานเลย
คุณยายอายุ 85 ปีแล้ว เจ็บไหล่มาหลายเดือน 
เคยตรวจกับที่อื่น วินิจฉัยว่า "ไหล่ติดธรรมดา"
คุณยายบอกว่ากินยาไม่ดีขึ้น...คนรู้จักเลยแนะนำให้มาพบผมเพื่อส่องกล้องให้
วันนี้ระหว่างรอตรวจ คุณยายจะคอยแนะนำและให้กำลังใจผู้ป่วยท่านอื่นๆที่อายุน้อยกว่าท่านมาก...ว่าอย่ากลัวการส่องกล้องเลย ถ้าเอ็นขาดก็รีบๆเย็บซ่อมไป
จะไปทนกินยาแก้ปวดให้ไตพังทำไม...ดูยายเป็นตัวอย่างสิ ตอนนี้หายแล้ว
ใครที่ปวดไหล่มานานควรทำ MRI นะครับ อย่าไปคิดว่าเป็นแค่โรคไหล่ติด
แล้วทำกายภาพไปเรื่อยๆ บางทีท่านอาจจะไม่โชคดีเหมือนคุณยายก็ได้นะครับ
เพราะยิ่งรักษาช้า เส้นเอ็นที่ขาดก็จะเปื่อยยุ่ยไป จนเย็บไม่ได้...

นพ.ไตร พรหมแสง
www.shoulderknee.org

ข้อต่อไหปลาร้าเคลื่อนหลุด

ข้อต่อกระดูกไหปลาร้าเคลื่อนหลุด (AC joint separation)
เป็นสาเหตุของอาการปวดไหล่รุนแรงจากการหกล้ม
พบได้บ่อยในนักกีฬาที่มีการปะทะกัน หรือผู้ที่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม
แล้วเอาไหล่กระแทกพื้น
คนไข้จะปวดไหล่มาก และจะเห็นกระดูกไหปลาร้านูนออกมาชัดเจน
กดเจ็บบริเวณปลายกระดูกไหปลาร้า
ถ้ามีการเคลื่อนหลุดมาก การรักษาต้องผ่าตัดเพื่อยึดกระดูกไหปลาร้าให้กลับไปตำแหน่งเดิม
ปัจจุบันสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้ แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 2 สัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุ
ห้ามปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะจะไม่สามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็กได้ครับ

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org

ไหล่ติด การดำเนินโรค ข้อควรระวัง

โรคไหล่ติด กว่าจะหายใช้เวลา 2 ปี !
กับข้อควรระวังที่ทุกคนต้องรู้ (ก่อนจะสายเกินไป)
ไหล่ติดเป็นโรคที่หายได้เอง แต่ใช้เวลานานมาก
การเข้าใจธรรมชาติของโรค จะทำให้ผู้ป่วยคลายกังวลและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น
การดำเนินโรค จะแบ่งเป็น 3 ช่วง:
1. ระยะการอักเสบ จะมีอาการปวดไหล่มาก ระยะนี้กินเวลา ประมาณ 2-4 เดือน
2. ระยะไหล่ติด จะขยับข้อไหล่ไม่ได้ มีอาการไหล่ติดมากขึ้น แต่อาการปวดจะน้อยลง ระยะนี้กินเวลา 4-12 เดือน
3. ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะสามารถขยับแขนได้มากขึ้นตามลำดับ แต่จะยังไม่ดีเหมือนไหล่ข้างปกติ ระยะนี้ใช้เวลา 1-2 ปี
การดูแลตนเองเบื้องต้น:
ระยะการอักเสบ ให้ทานยาลดอาการปวดและยาแก้อักเสบเฉพาะเวลาปวดเท่านั้น ไม่ต้องทานยาต่อเนื่องทุกวัน และให้ทำกายภาพเบาๆเช่น การไต่กำแพง และ นอนยกแขน เป็นต้น ไม่ควรหักโหมทำกายภาพเพราะจะทำให้ปวดไหล่มากขึ้น
ระยะไหล่ติดและระยะฟื้นตัว ให้เน้นที่การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ต้องทำกายภาพด้วยตนเองทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 เวลา
ให้กินยาเมื่อมีอาการปวดมากเท่านั้น
ข้อควรระวัง (ที่สำคัญมาก)
ผู้ป่วยบางท่านจะมี “เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด” เป็นสาเหตุนำของโรคไหล่ติด
การทำกายภาพจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น หรือ อาจจะแค่บรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น
เวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ อาจทำให้เส้นเอ็นหดตัวหายไป และจะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org



ไตวาย เพราะปวดไหล่

ไตวาย เพราะปวดไหล่ !!!
คุณป้าคนหนึ่งสุขภาพแข็งแรงดี แต่มีอาการปวดไหล่
กินยาแก้ปวด แก้อักเสบเป็นประจำมา 6 เดือน
อาการปวดไหล่ไม่หายจึงมาพบหมอที่โรงพยาบาล
ผมตรวจร่างกายและส่งทำ MRI หัวไหล่ทันที
พบว่าเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดแบบที่ยังพอจะเย็บซ่อมได้
คิดว่าหลังผ่าตัดส่องกล้อง 4 เดือนก็น่าจะหายเป็นปกติ
ก่อนผ่าตัดส่องกล้อง หมอต้องตรวจร่างกายและตรวจเลือดคนไข้ทุกคนอย่างละเอียด
ปรากฏว่าผลตรวจคุณป้าเป็นโรคไตวายเฉียบพลัน ! จากการทานยาแก้ปวดมากเกินไป
คุณป้าไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องไหล่ได้
เพราะต้องรักษาโรคไตวายให้หายก่อน
อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน
หรือบางทีไตวายอาจไม่หาย ต้องมาฟอกไตที่โรงพยาบาลตลอดชีวิต...
การกินยาแก้ปวด แก้อักเสบต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็น
โรคกระเพาะและไตวายได้...ระวังกันด้วยนะครับ

นพ.ไตร พรหมแสง
รพ.ศิครินทร์
www.shoulderknee.org


ไหล่หลุด กระดูกแตก ตกบันได

วันนี้ออกตรวจที่ รพ.ศิครินทร์ มีหมอกระดูกส่งเคสมาปรึกษาผ
เป็นเคสที่น่าสนใจมากครับ
คนไข้เป็นชาวอังกฤษ ตกบันไดแค่ 2 ขั้น 
เอาไหล่กระแทกพื้น มีอาการปวดไหล่มาก 
มาตรวจที่ห้องฉุกเฉินพบว่าหัวไหล่หลุด และยังมีกระดูกไหล่หักด้วย 
โชคร้ายจริงๆ ข้อก็หลุด กระดูกก็หัก

หมอที่ห้องฉุกเฉินได้ทำการรักษาโดยดึงไหล่ให้เข้าที่ทันที
หลังจากนั้นก็นัดคนไข้มาพบหมอกระดูกทั่วไป
หมอกระดูกรุ่นพี่ผมท่านนี้ ตรวจดูแล้วก็ส่งตัวคนไข้มาพบผมอีกทีนึง

ผมตรวจร่างกายและดูเอกซเรย์แล้ว พบว่าข้อไหล่อยู่ในตำแหน่งที่ดี และกระดูกชิ้นที่หัก ก็อยู่ในตำแหน่งที่เข้าที่ดีแล้ว

ถึงแม้ว่าข้อไหล่จะหลุด กระดูกจะแตก แต่ถ้าหลังดึงไหล่ให้เข้าที่แล้ว
กระดูกชิ้นที่แตกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
การรักษาก็แค่ใส่ที่คล้องแขน 3 สัปดาห์ ก็พอแล้ว
ไม่ต้องทำการผ่าตัด....

บนความโชคร้ายของคนไข้รายนี้ ก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้างครับ
...ที่ไม่ต้องผ่าตัด

แฟนเพจ "สุขภาพ ข้อไหล่" จะขึ้น-ลงบันได ก็ขอให้มีสติ ระมัดระวังกันด้วยนะครับ...