วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

กระดูกงอก กดทับเส้นเอ็นไหล่ขาด !!!


กระดูกงอก กดทับเส้นเอ็นไหล่ขาด !!!

เป็นโรคที่พบบ่อยมาก เอกซเรย์จะเห็นลักษณะกระดูกงอกเป็นรูปเคียว
กระดูกที่งอกจะขูดกับเส้นเอ็นไหล่เวลาเรายกแขน...ขูดไป ขูดมา เส้นเอ็นก็ขาดเป็นรู

บทความนี้ยาวนิดนึงนะครับ เนื่องจากมีผู้อ่านหลายท่านเขียนมาถาม
ผมจึงขออธิบายโดยละเอียด เพื่อผู้อ่านจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆและเป็นข้อมูลหลักในการตัดสินใจครับ

กระดูกด้านบนของข้อไหล่จะมีลักษณะเหมือนหลังคาบ้าน เรียกว่ากระดูกอะโครเมียน (acromion)
ใต้กระดูกอะโครเมียนจะเป็นที่อยู่ของเส้นเอ็นไหล่
เมื่อมีกระดูกงอกมากดทับเส้นเอ็นไหล่ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเวลายกแขน และเจ็บเวลานอนทับไหล่

ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่ากระดูกงอกมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
พบบ่อยมากในคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป
อาการปวดไหล่จะเป็นมากเวลายกแขนและเวลาเอื้อมไปจับด้านหลัง

“ ผู้ป่วยส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไหล่ติดธรรมดา ”

แต่ศัลยแพทย์ข้อไหล่ที่ชำนาญจะสามารถให้การวินิจฉัยแยกโรคได้
เอกซเรย์อาจพบกระดูกงอกเป็นแท่งยาว
การทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้การวินิจฉัยได้ดีที่สุด
เราจะเห็นตำแหน่งที่กระดูกงอกได้ชัดเจนและบอกตำแหน่งที่มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นไหล่ได้อย่างแม่นยำ


การรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อไปเย็บซ่อมเส้นเอ็นและเจียรกระดูกให้เรียบ
เพื่อไม่ให้มันขูดกับเส้นเอ็นของเราได้อีกครับ
ในอดีตแพทย์ส่วนใหญ่จะผ่าตัดเจียรกระดูกโดยเปิดแผลขนาดใหญ่ประมาณ 7 เซนติเมตรและต้องทำการตัดกล้ามเนื้อไหล่ (Deltoid)
เพื่อที่จะเข้าไปเจียรกระดูก เป็นการผ่าตัดที่เจ็บมาก

โชคดีมากครับ...ที่ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง
หลังผ่าตัดก็เจ็บแผลไม่มากเหมือนในอดีต โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็น้อยกว่ามาก
แผลขนาดเล็กลงเหลือแค่ 1 เซนติเมตร

แต่.....ข้อเสียก็คือ การผ่าตัดส่องกล้องไหล่เป็นการผ่าตัดที่ยากมากๆ... 
มีหมอกระดูกในประเทศไทยไม่กี่คนหรอกครับที่ผ่าตัดส่องกล้องไหล่ได้
( และก็มีจำนวนน้อยมากที่ผ่าตัดได้ดีจริงๆ... )
มีหมอกระดูกหลายท่านกล่าวไว้ว่า “การผ่าตัดส่องกล้องไหล่ เป็นการผ่าตัดที่ยากที่สุด” ในบรรดาการผ่าตัดทั้งหมด
แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องผ่านการฝึกอบรมพิเศษ ฝึกฝนจนชำนาญ และมีทักษะการผ่าตัดขั้นสูง
มิเช่นนั้น...จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ !!!
แพทย์บางท่านเจียรกระดูกอะโครเมียนมากเกินไป ทำให้กระดูกบางจนหักเลย...ก็มี

การผ่าตัดทุกอย่าง มีทั้ง “ข้อดี” และ “ความเสี่ยง” 
ก่อนตัดสินใจรับการผ่าตัด...ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลทุกอย่างเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจครับ

นพ.ไตร พรหมแสง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น